อุบัติเหตุและโรคทางตา

  • การโดนสารเคมี (Chemical burn): ปัจจุบันเรามีโอกาสที่จะสัมผัสต่อสารเคมีต่างๆ มากขึ้น ซึ่งสารเคมีแต่ละชนิดมีความรุนแรงต่อเนื้อเยื่อแตกต่างกันไป สารเคมีที่เป็นอันตรายอย่างยิ่งต่อดวงตาคือสารจำพวก กรด หรือด่าง ซึ่งมีฤทธิ์กัดกร่อน โดยทั่วไปกรดอาจทำให้เกิดอันตรายน้อยกว่าด่างเนื่องจากเมื่อกรดจับกับโปรตีนในตา จะทำให้โปรตีนแข็งตัวซึ่งทำหน้าที่เหมือนเป็นตัวกั้น (barrier) มิให้กรดซึมลึกลงไปอีก ส่วนด่างมีผลทำให้เนื้อเยื่อเกิดเป็นฟอง และละลายตัวเนื้อเยื่อทำให้แทรกซึมลึกลงไปได้เรื่อยๆ อย่างไรก็ตาม ความรุนแรงขึ้นกับลักษณะเฉพาะของตัวสาร รวมถึงระยะเวลาที่ได้รับสารจนได้รับการรักษา ถ้าได้รับการล้างตาทันที การทำลายเนื้อเยื่อก็จะน้อยลง ฉะนั้นการปฐมพยาบาลเบื้องต้นในผู้ที่ได้รับสารเคมีคือ ควรล้างตาด้วยน้ำสะอาจใกล้ตัวให้มากที่สุดและนานที่สุดระหว่างที่นำส่งจักษุแพทย์โดยด่วน
  • อุบัติเหตุจากแรงกระแทก: อาจเกิดได้จากการทำงาน เล่นกีฬา หรืออุบัติจากการขับขี่
  • อุบัติเหตุต่อเปลือกตา: อาจมีแค่เปลือกตาถลอก บวม ไปจนถึงเปลือกตาฉีกขาด ถ้าแรงกระแทกลึกลงไปอาจทำให้กล้ามเนื้อเปลือกตาฉีกขาด นำมาสู่ภาวะหนังตาตก ท่อน้ำตาฉีก ทำให้เกิดน้ำตาไหล หรือรุนแรงจนมีความผิดปรกติในลูกตาได้ ฉะนั้นผู้ที่ได้รับอุบัติเหตุควรได้พบจักษุแพทย์เพื่อประเมินความรุนแรง และได้รับการรักษาอย่างถูกต้อง
  • อุบัติเหตุต่อเยื่อบุตา: พบได้ตั้งแต่แค่แผลถลอกของเยื่อบุตา หรือแผลฉีกขาดของเยื่อบุตา ซึ่งถ้าแผลยาว
    ต้องได้รับการเย็บแผลจากจักษุแพทย์  บางครั้งอาจมีเลือดออกใต้เยื่อบุตา แต่ภาวะนี้มักจะหายได้เองการประคบย็นจะช่วยให้สบายขึ้นก่อนพบจักษุแพทย์
  • อุบัติเหตุต่อกระจกตา: อาจพบเพียงกระจกตาถลอก ซึ่งจะมีอาการปวดตา น้ำตาไหลจากที่กระจกตาเป็นอวัยวะที่มีเส้นประสาทไปเลี้ยงมาก หรือหากรุนแรงอาจมีแผลฉีกขาด ที่ต้องได้รับการเย็บซ่อม
  • เลือดออกช่องหน้าลูกตา: เกิดจากการถูกกระแทกอย่างแรง เช่น จากลูกแบดมินตัน ลูกเทนนิส เป็นต้น ทำให้มีการฉีกขาดของเส้นเลือดบริเวณม่านตา จะพบเลือดออกในช่องหน้าลูกตา ร่วมกับอาการปวดตา ตาแดงตามัว ภาวะนี้จำเป็นต้องได้รับการรักษาจากจักษุแพทย์ทันที ซึ่งการรักษาได้แก่ การนอนพักในโรงพยาบาลเพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อนที่ร้ายแรง เช่น การเกิดต้อหิน กระจกตาขุ่นจากเม็ดเลือดฝังในเนื้อกระจกตา หรือเลือดออกเพิ่มขึ้น ซึ่งถ้าเกิดผลแทรกซ้อนเหล่านี้แล้ว ผู้ป่วยจำเป็นต้องได้รับการผ่าตัดล้างเลือดออกจากช่องหน้าลูกตาก่อนที่จะนำไปสู่การสูญเสียสายตาอย่างถาวรได้
  • อุบัติเหตุต่อเลนส์ตา: อาจทำให้มีเลนส์ตาเลื่อน หลุด ต้อกระจก หรือเลนส์แตกเกิดการอักเสบในลูกตาได้ ซึ่งต้องได้รับการรักษาโดยจักษุแพทย์
  • อุบัติเหตุต่อจอประสาทตา: อาจพบเพียงแค่เลือดออกในวุ้นตา ซึ่งต้องติดตามโดยจักษุแพทย์เพื่อประเมินการดูดซึมของเลือด และภาวะของจอประสาทตาฉีกขาดที่แม้ไม่พบในระยะแรก แต่อาจเกิดในภายหลังได้ หรือหากการกระแทกนั้นมีความรุนแรงมาก อาจทำให้จอประสาทตารวมถึงผนังตาด้านหลังฉีกขาดได้ทันทีหลังเกิดอุบัติเหตุ อันตรายต่อจอประสาทตาอาจนำมาสู่การตาบอด ฉะนั้นต้องได้รับการรักษาโดยผู้เชี่ยวชาญด้านจอประสาทตา
  • อุบัติเหตุต่อเส้นประสาทตา: ถ้ามีแรงกระแทกบริเวณหน้าผากหรือคิ้ว ก็อาจจะมีอันตรายต่อเส้นประสาทตาได้ โดยดูจากภายนอกอาการอาจจะไม่รุนแรง ไม่มีอาการเจ็บปวด แต่ตาจะมัวทันที ซึ่งถ้าได้รักษาในระยะแรก บางรายอาจจะป้องกันการสูญเสียสายตาได้
  • อุบัติเหตุต่อกระดูกเบ้าตาและกล้ามเนื้อตา: อาจมีกระดูกเบ้าตาแตก อันตรายต่อกล้ามเนื้อตา ทำให้เกิดอัมพาตของกล้ามเนื้อตา มองเห็นภาพซ้อน มีอาการชาบริเวณใต้ตา และลูกตาลึกบุ๋มลงไป  ซึ่งถ้าอาการไม่ดีขึ้นภายใน 7 – 10 วัน ก็ต้องได้รับการผ่าตัดแก้ไข
  • การป้องกัน
  • ให้ใส่เครื่องป้องกันเสมอขณะทำงาน โดยเฉพาะแว่นตาป้องกัน (gogles) สารเคมีหรือสิ่งของที่อาจมีโอกาสได้รับการกระแทก ให้การวินิจฉัยอย่างรวดเร็วในกรณีที่สงสัยว่าจะเกิดอุบัติเหตุขึ้น
  • ส่วนผู้ขับรถยนต์ควรจะคาดเข็มขัดนิรภัยเสมอเพื่อป้องกันศีรษะกระแทกพวงมาลัยขณะเกิดอุบัติเหตุ
  • การเล่นกีฬาอย่างระมัดระวัง และการใช้แว่นที่ทำด้วย polycarbonate โดย การออกแบบ eye protection ควรจะเหมาะสมกับกีฬาชนิดนั้น ๆ
  • กระจกตาอักเสบจากแสงยูวี: มักพบในผู้ที่ทำอาชีพเชื่อมโลหะ หรือจากลำแสงอาทิตย์ ผู้ป่วยจะปวดตา แสบตา และมีน้ำตาไหล การรักษาด้วยการให้ยา และผู้ปฏิบัติงานเกี่ยวกับการเชื่อมโลหะ ควรจะใช้ eye filter ที่เหมาะสม
Related Posts Plugin for WordPress, Blogger...